ประสาทหูเสื่อม เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวันและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะเวลา ส่วนมากอาการประสาทหูเสื่อมจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประสาทหูเสื่อม ตามอายุ มักจะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุเพราะประสาทหูมีการเสื่อมตามระยะเวลาเป็นธรรมชาติ และประสาทหูเสื่อม ชนิดเฉียบพลัน สามารถเกิดได้กับทุกวัย จึงนับว่าเป็นอาการที่มีความน่ากลัวและสามารถส่งผลกระทบมากมายต่อร่างกายและการใช้ชีวิต วันนี้เราจึงจะมาเรียนรู้สาเหตุที่ทำให้ ประสาทหูเสื่อม เฉียบพลัน

  • ประสาทหูเสื่อม ชนิดเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดจาก

การติดเชื้อไวรัส ตัวอย่างเช่น ไวรัสโรคหัด งูสวัด คางทูม หรือไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสเหล่านี้สามารถทำให้ประสาทหูและเซลล์ประสาทหูทำหน้าที่ผิดปกติเพราะเกิดการอักเสบได้ โดยไวรัสโรคหัดและไข้หวัดใหญ่ มักจะทำให้ประสาทหูเสื่อมทั้ง 2 ข้าง ในขณะที่ไวรัสคางทูม สามารถทำให้ประสาทหูเสื่อมข้างเดียว

การอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน เมื่อหลอดเลือดเกิดการอุดตันทำให้ประสาทหูและเซลล์ประสาทหูเกิดความผิดปกติเนื่องจากขาดเลือด โดยเส้นเลือดนี้จะเป็นเส้นเลือดที่ไม่มีแขนงจากเส้นเลือดใกล้เคียงมาช่วยไหลเวียน เมื่ออุดตันจึงส่งผลกระทบกับประสาทหู ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ เส้นเลือดอุดตันมักมีสาเหตุมาจาก เส้นเลือดแดงหดตัวเฉียบพลันจากความเครียด เส้นเลือดที่เสื่อมตามวัย เลือดข้นเพราะขาดน้ำหรือขาดออกซิเจนเรื้อรัง มีลิ่มเลือดอุดตัน และเส้นเลือดอักเสบ เป็นต้น

การรั่วของน้ำในหูชั้นในเข้าไปหูชั้นกลาง มีสาเหตุมาจากการเบ่ง สั่งน้ำมูกแรง ไอแรง หรือมีความดันในสมองสูงขึ้น จึงส่งผลกระทบให้เกิดประสาทหูเสื่อมได้

  • ประสาทหูเสื่อม ชนิดเฉียบพลันโดยทราบสาเหตุ เกิดจาก

การบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บที่ศรีษะ จนทำให้เกิดการรั่วของน้ำในหูชั้นในไหลเข้าไปในหูชั้นกลาง กระดูกกกหูหัก จนทำให้เส้นประสาทหู เซลล์ประสาทหูเกิดการบาดเจ็บหรือมีเลือดออกในหู้ชั้นใน การบาดเจ็บจากการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดหูชั้นกลางหรือหู้ชั้นใน เช่น การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนกระดูกโกลนเพื่อช่วยให้การได้ยินดีขึ้น การผ่าตัดเนื้องอกที่หูชั้นกลางหรือประสาทการทรงตัว นอกจากนี้ยังมีการบาดเจ็บจากการเปลี่ยนแปลงของความกดดันที่หูชั้นใน ที่เกิดจาก การดำน้ำ หรือการขึ้นที่สูงอย่างเครื่องบิน รวมไปถึงการได้ยินเสียงที่มีความดังมากๆ ในระยะเวลาสั้น เป็นต้น

การขยายขนาดของเนื้องอกประสาททรงตัวอย่างเฉียบพลันสามารถกดทับประสาทหูได้จนทำให้เกิดอาการประสาทหูเสื่อมตามมา

การติดเชื้อของหูชั้นใน หูชั้นในอักเสบเนื่องจากหูชั้นกลางอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง การติดเชื้อของหูชั้นในจากเชื้อซิฟิลิส เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก็สามารถทำให้ประสาทหูเสื่อมทั้ง 2 ข้างได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การใช้ยาบางชนิดเป็นระยะเวลานานสามารถเป็นพิษต่อหูและประสาทหูได้ด้วยเช่นกัน เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของซาลิไซเลต ยาขับปัสสาวะ ยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะบางประเภท สามารถส่งผลกระทบทำให้ ประสาทหูเสื่อม อย่างถาวรได้ และสามารถเกิดขึ้นทันทีหลังการใช้ยาและหลังจากการหยุดใช้ยาไปแล้วระยะหนึ่ง

โรคเมเนียส์หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นโรคที่มีน้ำในหูปริมาณมากจนอาจเข้าไปกดเบียดและทำลายเซลล์ประสาทหู ทำให้ ประสาทหูเสื่อม เฉียบพลันได้เช่นกัน